เนื่องด้วยการแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบันนั้นทางบริษัทต่าง ๆ ทำการขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น และด้วยบริษัทเป็นจำนวนไม่น้อยที่ถูกสภาวะเศรษฐกิจเล่นงาน จึงทำให้จำนวนของบริษัทหรือองค์กรธุรกิจดี ๆ เหลือจำนวนน้อยลง ในขณะที่จำนวนพนักงานกลับมีอัตราการว่างงานเพิ่มมากขึ้น
ด้วยปัจจัยต่าง ๆเหล่านี้ จึงทำให้หลายองค์กรต่างเป็นที่ต้องการของคนที่กำลังมองหางาน และทำให้เกิดการแข่งขันกันเองมากขึ้นระหว่างผู้สมัครงาน แล้วพนักงานแบบไหนล่ะที่กำลัง เป็นที่ต้องการของนายจ้าง ยุคนี้ มาดูกันว่ามีปัจจัยอะไรกันบ้างที่เป็นข้อควรพิจารณา
กรณีนักศึกษาจบใหม่
- เกรดเฉลี่ย ทางบริษัทส่วนใหญ่ย่อมพิจารณาถึงเกรดเฉลี่ย เพราะแนวความคิดที่เชื่อว่าคนที่เรียนเก่งย่อมเป็นดัชนีชี้วัดว่าคนคนนั้นจะทำงานได้เก่ง เรียนรู้ไว มีหลักคิดที่ดี สามารถคิดแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ไม่เกเร ตั้งใจทำงาน มีความรับผิดชอบกับงานที่ทำ ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของผู้สมัครโดยตรง
- กิจกรรม เนื่องจากกิจกรรมที่ทำในรั้วมหาวิทยาลัย ย่อมบ่งบอกถึงความถนัด ทักษะ เฉพาะตัวของคุณเอง เช่น เป็นนักกิจกรรม ร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆกับทางสถาบัน ย่อมส่งผลดีต่อนายจ้าง ว่าเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ มีน้ำใจ ให้ความช่วยเหลือ ให้ความร่วมมือ และกล้าแสดงออก หรือเป็นกิจกรรที่เกี่ยวกับภาษาต่างประเทศ ก็จะยิ่งเป็นข้อได้เปรียบในเรื่องการใช้ภาษา เพราะอย่างน้อยย่อมมีความชำนาญเพิ่มมากขึ้นจากการได้ร่วมทำในกิจกรรมนั้น ๆ
- ไลฟ์สไตล์ เพราะไลฟ์สไตล์ย่อมแสดงถึงบุคลิกภาพของคุณว่าเป็นคนเช่นไร ชอบทำงานคนเดียว ชอบทำงานกลุ่ม ชอบแนววิชาการ หรือชอบแนวบันเทิง ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้นายจ้างจะนำมาพิจารณาประกอบด้วย ว่าเป็นไลฟ์สไตล์ที่เข้ากันได้ดีต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายหรือไม่ หรืออย่างน้อยก็ไม่ขัดแย้งกัน
- ความสามารถพิเศษ ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีความสามารถพิเศษด้านใดก็ตาม ไม่ว่าจะแนวบันเทิง แนววิชาการ แนวนักกีฬา หรือแนวศิลปะ เป็นตัวแสดงให้เห็นว่าคนคนนั้น มีแรงปรารถนา มีความมุ่งมั่น มีวินัย เอาจริงเอาจัง และใฝ่เรียนรู้ เพื่อให้ตัวเองได้พัฒนาทักษะตามความสามารถพิเศษต่าง ๆ ที่มีใจรักในด้านนั้น
กรณีพนักงานที่กำลังว่างงาน
- ประสบการณ์ ด้วยสภาวการณ์ที่แข่งขันทางภาคธุรกิจสูงขึ้น ทำให้พนักงานในองค์กรต่างๆไม่มีเวลามาสอนงานพนักงานแบบนับหนึ่งใหม่ ดังนั้นหากว่าผู้สมัครที่มีประสบการณ์ตรงในสายงานนั้น ๆ ย่อมได้เปรียบกว่าผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในตำแหน่งนั้น ๆ เพราะนายจ้างต่างคาดหวังว่าพนักงานคนนั้นที่จ้างมา จะสามารถมาทำงานให้กับทางนายจ้างได้เลย โดยไม่ต้องสอนอะไรกันมาก หรืออย่างน้อยก็ใช้เวลาในการเรียนรู้ระบบต่าง ๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับบริษัทเดิมที่อยู่ในสายธุรกิจเดียวกัน เพราะลักษณะระบบจะใกล้เคียงกัน
- แนวคิด นายจ้างคงต้องการหาพนักงานที่เมื่อเข้ามาทำงานในองค์กรเดียวกันแล้ว มีความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับองค์หรือไม่ เพื่อความสามัคคี ความร่วมมืออันดี ระหว่างพนักงานในองค์กร และรวมไปถึงความก้าวหน้าขององค์กรและตัวพนักงานเองด้วย คงไม่มีนายจ้างคนไหนที่อยากจะจ้างพนักงานที่มีแนวคิดขัดแย้งกับองค์กรเป็นแน่
- ทักษะที่หลากหลายในการทำงาน หรือที่ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Multitasking Skills เนื่องด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ทำให้แต่ละองค์กรต่างคำนึงถึงต้นทุนและค่าใช้จ่าย ให้สอดคล้องกับรายได้ หรือกำไรของธุรกิจ แล้วหากว่าองค์กรไหนที่มีปัญหาประสบภาวะขาดทุน ยิ่งต้องลดค่าใช้จ่ายลงอย่างมาก และส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายคงที่ในภาคธุรกิจ ก็คือเงินเดือนพนักงานในแต่ละเดือน ทำให้หลายองค์กร มีการลดจำนวนของพนักงานลงในแผนกนั้น ๆ โดยให้คนที่เหลืออยู่ภายในแผนก ต้องรับผิดชอบงานเพิ่มมากขึ้น หรือต้องทำงานในส่วนของพนักงานที่ออกไป โดยบางองค์กรที่ลดพนักงานเหลืออยู่เป็นจำนวนน้อยสุดแล้ว กล่าวคือในแต่ละแผนกมีพนักงานทำงานอยู่แค่คนเดียว แต่ทางองค์กรก็ยังต้องการลดค่าใช้จ่ายลงอีก เพื่อพยุงกิจการให้ดำเนินต่อไปได้ ทำให้พนักงานที่ยังเหลืออยู่ อาจต้องทำงานควบมากกว่าหนึ่งแผนก ซึ่งแนวโน้มในปัจจุบันจะเพิ่มมากขึ้น ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น ดังนั้นทำให้พนักงานที่กำลังต้องการหางาน ควรเรียนรู้เพิ่มเติมในสายอาชีพของตนเองให้มากขึ้น หากว่ามีทักษะในการทำงานมากกว่าหนึ่งสายงานได้ยิ่งดี เพื่อเป็นข้อได้เปรียบในการสมัครงาน หรือเพื่อความได้เปรียบต่อผู้สมัครท่านอื่น
- ทัศนคติเชิงบวก เนื่องด้วยนายจ้างย่อมต้องนำมาพิจารณาระหว่างการสัมภาษณ์ว่าผู้สมัครงานท่านนั้น มีความคิดเห็นต่อองค์กร ต่อนายจ้าง รวมถึงต่อหัวหน้างาน ที่เก่า เป็นเช่นไร ทั้งนี้คำถามเหล่านี้ จะแสดงให้เห็นถึงทัศนคติ การมองโลก ว่าคนคนนั้นมีความสามารถในการทำงานให้ประสบความสำเร็จที่ต้องทำร่วมกันเป็นทีม โดยพนักงานที่มีทัศนคติเชิงบวก ย่อมจะส่งผลให้มีโอกาสมากกว่า ไม่ว่าจะมีแรงบันดาลใจ ปรับตัวยืดหยุ่น เป็นที่ยอมรับของผู้ร่วมงานและพนักงานคนอื่น มีความรับผิดชอบสูง รวมถึงได้รับโอกาสในการเป็นผู้นำ หรือมอบหมายโปรเจคที่มีในอนาคต
- แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี เพราะในหลาย ๆสถานการณ์ในการทำงานร่วมกันระหว่างพนักงานในองค์กร ย่อมต้องมีข้อขัดแย้ง หรือกระทบกระทั่งกันบ้าง หรือเกิดปัญหาในระบบงานเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว ซึ่งเรื่องเหล่านี้ย่อมเป็นเรื่องปกติสำหรับคนทำงาน แต่หากว่าคนที่สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เก่ง รู้จักปรับตัวรับมือกับปัญหานั้นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะเวลาอันรวดเร็ว ย่อมส่งผลดีต่อตัวพนักงานเอง ในโอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ รวมถึงได้รับผลประเมินการทำงานที่โดดเด่นกว่าพนักงานคนอื่น
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ในโลกของธุรกิจที่ต่างต้องแข่งขัน ทั้งต่อตัวเอง ต่อองค์กร ตามเทรนด์ของนายจ้างยุคใหม่ที่ต้องการพนักงานแบบสมาร์ทและสตรอง สู้ ๆ ค่ะ
Credit: https://moneyhub.in.th/